Idea Pitching
วัตถุประสงค์ของกิจกรรม
- เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของโครงงานวิทยาศาสตร์ของตนเอง
- เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดต่อยอดหรือประยุกต์ใช้โครงงานวิทยาศาสตร์ได้
- เพื่อให้นักเรียนพัฒนาความสามารถในการพูดหรือการนำเสนอ
- เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้สื่อการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ
การส่งผลงานรอบคัดเลือก
นักเรียนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมจะต้องจัดทำผลงานดังต่อไปนี้ (สามารถใช้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)
- สื่อนำเสนอผลงานในรูปแบบคลิปวิดีโอ ความยาว 2 นาที สามารถตัดต่อวิดีโอได้ตามความเหมาะสม จากนั้นอับโหลดขึ้น YouTube แบบ unlisted ทั้งนี้ คลิปวิดีโอนำเสนอในรอบคัดเลือกจะถูกปกปิดเป็นความลับ โดยให้สิทธิ์เฉพาะคณะกรรมการคัดเลือกผลงานที่ได้รับ link เข้าชมและพิจารณาคัดเลือกเท่านั้น (หากมีการเผยแพร่คลิปผลงานในทางสาธารณะจะไม่ถือเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการตัดสินและผู้จัดกิจกรรม)
- Graphical Abstract ขนาด 1 หน้ากระดาษ A4 ในรูปแบบไฟล์ PNG มีลักษณะเป็นแผนภาพองค์รวมเน้นการใช้ภาพ แผนผัง หรือแผนภูมิ เป็นหลัก เพื่อสรุปใจความสำคัญของโครงงานและแนวคิดการพัฒนาต่อยอดโครงงานให้เข้าใจได้ง่าย
แนวทางการจัดทำสื่อนำเสนอผลงาน
การจัดทำสื่อนำเสนอให้นักเรียนออกแบบลำดับและวิธีการเล่าเรื่องด้วยตนเอง การจัดทำวิดีโอสามารถตัดต่อวิดีโอได้ การจัดทำ Graphical abstract ต้องไม่ใช่ Poster ที่ใช้ในกิจกรรมหลัก เน้นนำเสนอแนวคิดการพัฒนาต่อยอดเป็นหลัก และมีสรุปใจความสำคัญของโครงงานสนับสนุนแนวคิด โดยผลงานทั้งสองชิ้นให้มีเนื้อหาครอบคลุมข้อมูลที่สำคัญดังต่อไปนี้
- แนวคิด/องค์ความรู้/ผลงาน/ชิ้นงาน ที่นำเสนอคืออะไร
- ผลงานนี้แก้ปัญหาอะไร
- กลุ่มเป้าหมาย หรือใครคือผู้ที่สามารถนำผลงานไปใช้หรือประยุกต์ใช้ได้
- คุณค่าของงานที่จะสามารถส่งต่อให้ผู้ใช้คืออะไร
- ทรัพยากรหรือองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมือขณะปัจจุบัน
- สามารถต่อยอดองค์ความรู้หรือผลงานในเชิงธุรกิจได้หรือไม่
การนำเสนอผลงานรอบตัดสิน
นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากรอบคัดเลือกจำนวน 10 โครงงานเข้าสู่การนำเสนอผลงานรอบตัดสิน ในวันจัดกิจกรรม แต่ละกลุ่มต้องนำเสนอแบบปากเปล่าด้วยภาษาไทยภายในเวลา 3 นาที พร้อมสื่อนำเสนอ PowerPoint ประกอบการนำเสนอให้พอเหมาะกับระยะเวลา (หากเกินระยะเวลาดังกล่าวคณะกรรมการจะปิดไมค์เพื่อหยุดการนำเสนอ) และคณะกรรมการใช้เวลาซักถาม 5 นาที ซึ่งลำดับการนำเสนอจะใช้วิธีสุ่มเลือกในวันนำเสนอจริง
แนวทางการจัดทำผลงานและการนำเสนอ
- เน้นการนำเสนอแนวความคิดพัฒนาต่อยอดจากโครงงานที่จัดทำที่เป็นไปได้บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง
- จูงใจให้กรรมการตัดสินและผู้ฟังมีความเชื่อมั่นว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถเป็นไปได้
- นำเสนอน่าสนใจ สั้น กระชับ ชัดเจน และเข้าใจง่าย
- มีข้อมูลรอบด้านสนับสนุนแนวความคิดที่นำเสนอ
เกณฑ์การให้คะแนน
ใช้การให้คะแนนแบบ Rubric ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลักได้แก่
- ความสมบูรณ์และความชัดเจนของสื่อที่นำเสนอ
- การลำดับเรื่องราว
- ความสามารถในการโน้มน้าวด้วยคำพูด
- ความเป็นไปได้บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อต่อยอดผลงานไปใช้ประโยชน์หรือสร้างเป็นนวัตกรรมได้
- การใช้เวลาอย่างคุ้มค่า
การให้รางวัล
- รางวัลการนำเสนอประกอบด้วย 3 รางวัลได้แก่
- รางวัลชนะเลิศ ทีมที่ได้คะแนนสูงสุด
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมที่ได้คะแนนเป็นลำดับ 2
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมที่ได้คะแนนเป็นลำดับ 3
- กรณีที่ได้คะแนนเท่ากัน คณะกรรมการหารือร่วมกันเพื่อเรียงลำดับคะแนน
- ผู้ได้รับรางวัล ได้รับรางวัลพิเศษและประกาศนียบัตร
- ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ
ทั้งนี้ คำตัดสินของคณะกรรมการตัดสินถือเป็นที่สิ้นสุด